วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หลักหัวใจพรหมจรรย์

หลักที่จะต้องสังวรและปฏิบัติ 23 ประการ ๑. จะต้องอดทนข่มอินทรีย์อย่างยิ่ง ๒. จะต้องไม่ตกเป็นทาสของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ๓. จะต้องสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ๔. จะต้องไม่หลงใหลในวัตถุอันเป็นเหตุตัณหากามคุณ ๕. จะต้องถือสันโดษไม่หลงอำนาจ ลาภ ยศ สิ่งสักการบูชา ๖. จะต้องไม่หลงระเริงยึดติดอยู่กับการยกย่องสรรเสริญ ๗. จะต้องพิจารณาตนไม่ประพฤติให้เกิดความเสื่อมเสียเป็นอันขาด ๘. จะต้องพิจารณาโดยแยบคายก่อนแล้วบริโภคปัจจัยสี่ ๙. จะต้องพิจารณาเห็นความไม่งามและโทษภัยของร่างกาย ๑๐. จะต้องเห็นโทษภัยของตัณหากามคุณกิเลสเป็นภัยอันใหญ่หลวง ๑๑. จะต้องพิจารณาให้เห็นชีวิตนี้ถูกไฟเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ๑๒. จะต้องพิจารณาให้เห็นความตายอยู่แค่ปลายจมูก ๑๓. จะต้องมองเห็นเกียรติยศชื่อเสียงเหมือนเสี้ยนหนาม ๑๔. จะต้องมองเห็นเกียรติยศชื่อเสียงคือภัยทำลายความสงบสุข ๑๕. จะต้องมองเห็นลากสักการะเหมือนกองอุจจาระ ๑๖. จะต้องมองเห็นทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกเป็นเพียงภาพลวงตา ๑๗. จะต้องมองเห็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดของโลกคือความเป็นอนิจจัง ๑๘. จะต้องมองเห็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของโลกคือความว่างเปล่า ๑๙. จะต้องสงบนิ่งและเรียบง่ายที่สุด ๒๐. จะต้องทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ ๒๑. จะต้องพิจารณามรณานุสติ (นึกถึงความตาย) เป็นอารมณ์ ๒๒. จะต้องมองชีวิตและโลกเป็นของว่าง ๒๓. จะต้องมีเมตตาธรรม เสียสละเพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่ชนทั้งหลาย

คัดลอก : หนังสือประวัติพระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโยนักบุญแห่งลานนาไทย

ศรัทธา คือสะพานก้าวข้ามไปหาปัญญา

คนที่มีศรัทธาต่อพระครูบาอาจารย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เวลาปฏิบัติก็จะได้อารมณ์เร็ว คนไหนเหมือนคนป่าและมีมิจฉาทิฐิก็จะยากแต่ในกรณีที่เป็นคนซื่อ ๆ ตรง ๆ มีอะไรก็พูดตรง ๆ ตามที่รู้สึกมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็พูดตามความเป็นจริงคนแบบนี้เขาอาจจะดื้อก็จริง แต่เขาเป็นคนซื่อ คือจิตมันซื่อตรงถ้าตั้งใจทำสักหน่อยจะได้อารมณ์เร็ว พอทำไปสักพัก ก็จะสัมผัสภาวะต่าง ๆ ที่ไม่เคยเข้าใจได้ เพียงแต่ว่าอาจจะมีความแยบคายที่น้อยไปหน่อยถ้าเป็นคนซื่อ ๆ ตรง ๆ ในทางพุทธศาสนา ก็เท่ากับว่ามีสมาธิอยู่ในตัว แต่ถ้าจิตมันคิดพิสดารในเรื่องต่าง ๆ มีเหตุผลเยอะเกินไปจิตแบบนี้มันเป็นจิตที่คด การรู้ธรรมก็จะยาก แต่เมื่อใดที่รู้สึกเฉย ๆ ไม่คิดอะไรก็จะสามารถรู้ได้เร็ว ที่มีคนกล่าวไว้ว่า"รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ สู้ไม่รู้อะไรเลย ทำไปด้วยจิตเปล่า ๆ ว่าง ๆ ไม่ต้องมีอะไร แล้วจะรู้ได้ไว"ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

ขอบคุณลานธรรมจักร


ทางแห่งความสุข


ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และพากันแสวงหา ด้วยวิธีการต่างๆ ตามแต่ระดับของสติและปัญญาที่จะอำนวยให้ได้ มีบางคนที่ไม่ได้พบกับความสุขสมหวัง เพราะเดินผิดทาง มีความปรารถนา แต่มีความประพฤติที่ไม่ตรงกัน คือ ตั้งความปรารถนาไว้ทางหนึ่ง แต่กลับประพฤติไปเสียอีกทางหนึ่ง เช่น อยากร่ำรวย แทนที่จะขยันหมั่นเพียรทำการงาน แต่กลับตั้งหน้าตั้งตาเล่นการพนัน หรืออยากแสวงหาความบันเทิง แทนที่จะหาโดยวิธีที่ไม่มีโทษ แต่กลับไปเสพสุราเมรัย โดยหลงไปว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสุข กว่าจะรู้ตัวก็เกิดโรคร้ายแรงเสียแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตก็มาดับสลายลง กับสิ่งที่ไร้สาระ อย่างน่าเวทนายิ่งนักการที่คนเราจะรู้ว่าอะไรจะเป็นต้นเหตุของความทุกข์ และอะไรจะเป็นต้นเหตุของความสุขนั้น ก็คือ "ปัญญา" พระพุทธองค์ ได้ตรัสว่า มีปัญญาพาให้บรรลุความสุขในบรรดาคำสอนอันมากมาย ที่จะเป็นบันไดไปสู่ความสุขนั้น พระพุทธ เจ้าทรงแสดงไว้มีมาก หากจะพึงนำมาใช้ให้เหมาะกับกาลสมัย ธรรมที่เป็นมูลเหตุเกิดของความดี ที่มีชื่อเรียกว่า กุศลมูล แปลว่า รากเหง้าของความดี ก็จัดได้ว่าเป็นธรรมชั้นวิเศษอีกประการหนึ่งธรรมอันเป็นส่วนวิเศษนี้มี 3 อย่าง ได้แก่ อโลภะ ความไม่โลภ อโทสะ ความไม่ประทุษร้าย และ อโมหะ ความไม่หลงงมงายหากเราใช้ปัญญา ซึ่งเป็นเสมือนดวงตา หรือแสงสว่างที่จะใช้ส่องนำทาง ให้ชีวิตเกิดความปลอดภัย และบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือความดับทุกข์ตามลำดับขั้น ประพฤติปฏิบัติตามกุศลมูล 3 ประการ คือ ความไม่โลภ ความไม่ประทุษร้าย และความไม่หลงงมงาย จะสามารถบรรลุถึงความสุขที่ปรารถนาของทุกชีวิตได้เนื่องจากพระธรรมมีอานุภาพอันประเสริฐเช่นนี้ แม้จะล่วงกาลผ่านเวลามาแล้วถึง 2,500 กว่าปี ก็ไม่ได้คร่ำคร่าล้าสมัยไปเหมือนกับสิ่งอื่น แต่ยังทรงคุณภาพยอดเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา ปฏิบัติเวลาไหนก็ย่อมได้รับผลดีเวลานั้น ปฏิบัติน้อยก็ได้รับผลน้อย ปฏิบัติมากก็ได้รับผลมาก ปฏิบัติเป็นประจำก็ได้รับผลสม่ำเสมอ พระธรรมจึงได้นามว่า อกาลิโก คือให้ผลได้ตลอดกาล ซึ่งไม่เหมือนผลไม้ที่ผลิตผลเพียงเฉพาะฤดูกาลเท่านั้นหากใครได้นำมาปฏิบัติแล้วย่อมสามารถทำผู้นั้นให้ประเสริฐไปด้วย เช่นเดียวกับเพชรที่ล้ำค่า ซึ่งตามธรรมดาก็มีค่าสูงอยู่ในตัวแล้ว ถ้าใครโชคดีมีไว้ประดับย่อมบันดาลให้ผู้นั้นพลอยมีค่าตัวสูงขึ้นอีกมากทีเดียวธรรมทั้ง 3 อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นรากเหง้าของความดี เป็นทางแห่งความสุข ก็เพราะเป็นต้นเหตุให้เกิดความดีทั้งปวง เหมือนกับรากของต้นไม้ เป็นมูลเหตุให้เกิดลำต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก และผลฉะนั้น

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เทวดาคุ้มครอง

เทวดา ตามความเชื่อแต่เดิมมา คือผู้คุ้มครองรักษามนุษย์ให้อยู่ดีมีสุข ความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ หมายถึง ผู้ที่มีชีวิตเป็นทิพย์ ไม่ได้มีชีวิตเป็นกายเนื้ออยู่บนโลกนี้ มีกายเป็นแสงสว่าง และเสวยสุขในสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นภพภูมิที่ดี เทวดาผู้หญิงเรียกว่า นางฟ้า พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องเทวดาเสมอ หากเราศึกษาพุทธประวัติ จะพบว่าพุทธศาสนาไม่เคยห่างเทวดาเลย ขอย้ำว่า พระพุทธศาสนายอมรับว่าเทวดามีจริง และยอมรับความดีของเทวดาด้วย พระพุทธเจ้าตรัสให้พุทธบริษัทที่บารมียังอ่อน ให้ระลึกถึงความดีของเทวดา เช่น กรรมฐานข้อที่ว่าด้วยเทวตานุสสติ สอนให้นึกถึงความดีของเทวดา เทวดา แปลว่า ผู้ประเสริฐ ความประเสริฐของเทวดา ถ้าพูดกันตามความนิยมแล้ว ท่านที่จะเป็นเทวดา ต้องเกิดเป็นคนก่อน เมื่อเป็นคนต้องศึกษาหลักสูตรของเทวดาว่า จะเป็นเทวดานั้นต้องเรียนรู้และปฏิบัติอย่างไร หลักสูตรที่ทำคนให้เป็นเทวดา พระพุทธเจ้าตรัสว่า มี 2 แบบ เรียกว่า เทวธรรม หลักที่ทำตนให้เป็นเทวดา 1. หิริ ความละอายต่อความชั่วทั้งหมด ไม่ทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง2. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่วจะลงโทษ ไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้งเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และมีจิตเมตตาปรานีตลอดกาล เอากันแค่ศีลบริสุทธิ์ ท่านใดศึกษาและปฏิบัติหลักสูตรนี้ได้ครบถ้วน จะเป็นเทวดาได้ ปฏิบัติได้อย่างเลิศก็เป็นเทวดาชั้นเลิศ ถ้าปฏิบัติได้อย่างกลางก็เป็นเทวดาปานกลาง ถ้าปฏิบัติได้ครบแต่หยาบ ก็เป็นเทวดาเล็กๆ เช่น ภูมิเทวดา หรือรุกขเทวดา เป็นต้นในทางพระพุทธศาสนา แม่ ก็ได้ชื่อว่าเป็นดุจเทวดาของลูก คอยปกป้องคุ้มครองลูกเสมอมา ปกป้องอย่างไร คิดย้อนไป ในยามลูกอยู่ในครรภ์ แม่คอยระมัดระวัง เคยรับประทานอาหารที่ชื่นชอบ เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ร้อนจัด แม่ต้องงด เพราะเกรงจะมีผลกระทบ จะทำงานหนักเกรงจะพลั้งพลาดมีอันตรายต่อลูก ยามเมื่อลูกคลอดออกมา แม่คอยเฝ้าดูแลรักษาไม่ห่างสายตา จะดึก จะง่วงเพลีย อย่างไร ถ้าลูกร้องขึ้นมา แม่ต้องรีบลุกขึ้นมาดูแล พร้อมเห่กล่อมปลอบโยนลูก ยามเติบโต แม่ต้องคอยระวังภัย ไม่ให้ลูกพลั้งพลาดกับการดำเนินชีวิต กว่าจะดูแลเลี้ยงดูปกป้องคุ้มครอง ให้รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ ต้องเหนื่อยยากลำบาก จะหาใครที่เฝ้าห่วงใยเรา ตลอดชีวิตเช่นนี้ไม่มีอีกแล้วดังนั้น คนที่ประกอบกุศลคุณงามความดีอย่างสม่ำเสมอแล้ว คุณพระย่อมปกป้องรักษา ตลอดถึงเทวดาก็ให้ความอุปถัมภ์คุ้มครอง ให้มีแต่ความเจริญอยู่สุขสบายอย่างแน่นอน

ธรรมะในใจ


คนที่มีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว อาจจะทำการงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แต่ไม่สามารถที่จะเป็นที่รัก เป็นที่นับถือของคนรอบข้างได้ เพราะปราศจากคุณธรรมที่สมควรจะมีไว้ในตนเอง ดังคำที่ว่า "คุณธรรมนำความรู้" นั่นเอง ธรรมะหมวดหนึ่ง ที่บุคคลควรประพฤติตั้งไว้ในใจ เรียกว่า อธิษฐานธรรม คือ ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ นั่นก็คือประการที่ 1 ปัญญา แปลว่า ความรู้ชัด รู้ทั่ว คือ หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง เช่น การศึกษาเล่าเรียน จะเรียนรู้อะไรสักอย่างหนึ่งก็จะต้องศึกษาในเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจ แจ่มแจ้ง ชัดเจน จึงจะเรียกได้ว่า สำเร็จประโยชน์ในการเรียน ไม่มีความบกพร่อง จนในที่สุดก็สามารถที่จะรู้เหตุและผล ดี-ชั่ว คุณ-โทษ ประโยชน์-มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น ได้ตามความเป็นจริง และปัญญานี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ สุตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด และภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการอบรมประการที่ 2 สัจจะ แปลว่า ความจริง คือ จริงใจ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้ทำจริง เช่น ตั้งใจไว้ว่าจะศึกษาเล่าเรียน จะปฏิบัติกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องทำอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาเบียดเบียน ขัดขวาง ก็จะต้องใช้ความพยายามฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นให้ได้ จนสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการ ประการที่ 3 จาคะ แปลว่า ความสละ ได้แก่ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ เริ่มต้นตั้งแต่การเสียสละ ให้ปันสิ่งของแก่คนอื่น จนถึงการสละกิเลสที่มีอยู่ในตน เช่น เมื่อตั้งใจจะทำความดี แต่มีตัวกิเลสมากั้นไว้ ไม่ให้ทำความดีนั้น จะต้องเข้าใจว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิตของตน เมื่อพิจารณาเห็นโทษแล้ว ก็ให้สละกิเลสเหล่านี้ออกไปประการที่ 4 อุปสมะ แปลว่า ความสงบ คือ สงบกาย สงบใจ จากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ คือ กิเลส ระงับความขัดข้อง วุ่นวายอันเกิดจากการถูกกิเลส เข้าครอบงำเสียได้ ทำให้จิตใจมีแต่ความสงบ ปราศจากกิเลส ความเศร้าหมองใจคนทุกคนที่เกิดมา จะต้องมีการคบหากันมากขึ้น จำต้องมีสัจจะ ความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน จึงจะได้รับการยกย่องนับถือ ต้องมีจาคะ เสียสละให้ปัน การอยู่ร่วมในสังคมหมู่มาก ย่อมที่จะกระทบกระทั่งกันบ้าง จำต้องมีความสงบใจ ไม่ปล่อยให้จิตใจตกไปในอำนาจกิเลส ชีวิตจึงจะประสบแต่ความสุขตลอดไปดังนั้น ถ้าบุคคลอบรมธรรมทั้ง 4 ประการนี้ ให้เกิดมีขึ้นในจิตใจ หรือตั้งธรรม 4 ประการนี้ไว้ในใจแล้ว ก็สามารถที่จะทำให้ประสบกับสมบัติอันจะพึงมี พึงได้ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตภายภาคหน้า



คัดลอก : พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙)

สั่งสมบุญ


หากบุคคลจะพึงกระทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญ นำความสุขมาให้การสั่งสมบุญเพื่อให้ได้รับอานิสงส์ หรือผลแห่งบุญที่ได้ทำนั้น ผู้ทำต้องรู้หลักแห่งการทำบุญ 3 ประการประการที่ 1 บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน มี 2 อย่าง คือ การให้ปัจจัย 4 หรือวัตถุทานต่างๆ ชื่อว่า อามิสทาน และการให้ธรรม ได้แก่ การแนะนำสั่งสอน ตักเตือนให้ละความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี แนะนำให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ชื่อว่า ธรรมทาน บรรดาทานทั้ง 2 นี้ อามิสทาน จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ
การให้โดยจำเพาะ คือ เจาะจงเฉพาะบุคคลที่รู้จักคุ้นเคยกัน เรียกว่า ปาฏิบุคลิกทาน ส่วนการให้แก่สงฆ์ คือ การถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หรือถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เป็นตัวแทนของสงฆ์ ไม่เจาะจง เรียกว่า สังฆทาน อีกประการหนึ่ง การให้ทานจะมีผลานิสงส์มากนั้น บุคคลที่ถวายจะต้องทำจิตใจให้เลื่อมใสศรัทธา มีใจเบิกบานยินดีที่จะให้ทานในเวลาทั้ง 3 คือ ก่อนแต่จะให้ ผู้ให้ก็มีใจยินดี ขณะกำลังให้ ก็ทำใจเลื่อมใส หลังจากให้ไปแล้วก็มีใจเบิกบานยินดี ประการที่ 2 บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ชื่อว่า ศีล เช่น ศีล 5 เป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะต้องประพฤติ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบร่มเย็น หากมนุษย์ทั้งหลายต่างพากันล่วงละเมิดศีล 5 ข้อนี้ สังคมก็จะมีแต่ความเดือดร้อนต่างๆ ศีลจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสงบร่มเย็นแก่สังคมและประเทศชาติ ศีลที่สมาทานประพฤติปฏิบัติสั่งสมอบรมดีแล้ว ก็จะมีผลมากมีอานิสงส์มากทำให้เกิดสมาธิ เมื่อสมาธิที่สั่งสมอบรมดีแล้วก็จะทำให้เกิดปัญญาคือความรอบรู้ในกองสังขารแล้วละกิเลสได้ตามภูมิชั้นแห่งปัญญาของตนๆประการที่ 3 บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คือ การเจริญสติทำใจให้สงบเป็นสมาธิ เพื่อทำให้เกิดปัญญา คือ ความรอบรู้ในกองสังขาร การเจริญภาวนานั้นท่านแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา การเจริญสมถะ เป็นอุบายทำใจให้สงบเป็นสมาธิ แล้วสามารถบรรลุถึงฌานสมาบัติ แต่ยังไม่สามารถละกิเลสได้เด็ดขาด ส่วนการเจริญวิปัสสนา อันเป็นอุบายทำให้เกิดปัญญา

เมื่อบุคคลได้เจริญภาวนาจนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่า เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง เป็นทุกข์ คือทนได้ยาก และเป็นอนัตตา หาใช่ตัวใช่ตนของเราไม่ เมื่อได้เห็นประจักษ์ตามความเป็นจริงในสัตว์และสังขารทั้งปวงว่า จะต้องมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดี แล้วละกิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ลดน้อยเบาบางลง จะกระทั่งถึงที่สุดสามารถละกิเลสได้เด็ดขาดคือบรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นบรมสุขซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดแห่งการทำบุญในพระพุทธศาสนา
เมื่อบุคคลปรารถนาความสุขในชีวิต ควรสั่งสมบุญตามหลักที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นบ่อยๆ ควรกระทำความพอใจในบุญนั้น เพราะบุญเป็นชื่อของความสุข การสั่งสมบุญจึงเป็นเหตุนำความสุขมาให้ตลอดเวลา


ขอขอบคุณ : คอลัมน์ธรรมะวันหยุด พระราชสุธี (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การทำทาน


ทาน แปลว่า การให้ หรือสละของๆ เราให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ การให้ทานเป็นพื้นฐานความดีของมนุษยชาติ และเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ ในการจรรโลงสังคม ชีวิตของเราดำรงอยู่ได้ด้วยทาน เราโตมาได้ก็เพราะทาน มีความรู้ในด้านต่าง ๆ ก็ด้วยทาน การให้ทาน จึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีประโยชน์ใหญ่หลวงต่อทุกคน ประเภทของทาน แบ่งได้ดังนี้ 1. อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน 2. ธรรมทาน หรือ วิทยาทาน คือการให้ความรู้เป็นทาน ถ้าเป็นความรู้ทางโลก เรียกว่า วิทยาทาน หากเป็นความรู้ทางธรรม เช่น สอนให้ละความชั่ว ประพฤติดี มีศีลธรรม เรียกว่า ธรรมทาน 3. อภัยทาน คือ สละอารมณ์โกรธ ให้อภัย ไม่ผูกอาฆาตจองเวร การให้ธรรมทาน ถือว่าเป็นการให้ที่ได้บุญสูงสุด มีคุณค่ากว่าการให้ทั้งปวง เพราะทำให้ผู้รับมีปัญญารู้เท่าทันโลก เท่าทันกิเลส สามารถ
ทาน แปลว่า การให้ หรือสละของๆ เราให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ การให้ทานเป็นพื้นฐานความดีของมนุษยชาติ และเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ ในการจรรโลงสังคม ชีวิตของเราดำรงอยู่ได้ด้วยทาน เราโตมาได้ก็เพราะทาน มีความรู้ในด้านต่าง ๆ ก็ด้วยทาน การให้ทาน จึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีประโยชน์ใหญ่หลวงต่อทุกคน ประเภทของทาน แบ่งได้ดังนี้ 1. อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน 2. ธรรมทาน หรือ วิทยาทาน คือการให้ความรู้เป็นทาน ถ้าเป็นความรู้ทางโลก เรียกว่า วิทยาทาน หากเป็นความรู้ทางธรรม เช่น สอนให้ละความชั่ว ประพฤติดี มีศีลธรรม เรียกว่า ธรรมทาน 3. อภัยทาน คือ สละอารมณ์โกรธ ให้อภัย ไม่ผูกอาฆาตจองเวร การให้ธรรมทาน ถือว่าเป็นการให้ที่ได้บุญสูงสุด มีคุณค่ากว่าการให้ทั้งปวง เพราะทำให้ผู้รับมีปัญญารู้เท่าทันโลก เท่าทันกิเลส สามารถนำพาตนเองให้พ้นภัยได้ การทำทานให้ได้บุญมาก ต้องพร้อมด้วยองค์ 3 คือ 1. วัตถุบริสุทธิ์ ของที่จะให้ทานต้องได้มาโดยสุจริตชอบธรรม ไม่ได้คดโกง เบียดเบียนใครมา 2. เจตนาบริสุทธิ์ คือมีเจตนาบริจาคทาน เพื่อกำจัดความตระหนี่ของตน ทำเพื่อเอาบุญไม่หวังชื่อเสียง ลาภ สักการะ 3. บุคคลบริสุทธิ์ คือ ให้แก่ผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีความสงบ สำรวม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก และผู้ให้ทาน คือ ตัวเองก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์ จึงจะได้บุญมาก การให้ทานเป็นเรื่องของความชุ่มเย็น ผู้ที่ให้ทานอยู่เสมอ ย่อมมีใจผ่องใส หมู่ชนที่นิยมการให้ ย่อมไม่มีความเดือดร้อนใจ เนื่องจากมีอัธยาศัยไมตรี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น อนึ่งใจของเรานี้ มีพลังอำนาจ สามารถดึงดูดทรัพย์ได้ คนที่สั่งสมการให้มามากจึงมีพลังดึงดูดสมบัติได้มาก ดังที่คนโบราณกล่าวไว้ว่า คนทำทานมาก จะเกิดมารวย ผู้ที่ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ที่ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี ผู้ที่ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมได้ของที่ประเสริฐ นรใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดีและของที่ประเสริฐ นรนั้น จะเกิดในที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ณ ที่นั้นๆ

ขอบคุณบทความจาก ลานธรรมจักร