![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjHw5iQ8yvUCmDxdy1PcsNIXA0uZnDR_0LWOJsEPBBf4OKRjugfokpw0I4_V1iKq6GCr-igYWilWTz398_keP-0iinVqL3zcp-30mUJpwbeg4M8tN0642eF22jBty_1HQhiOX_AHWWWf0n3/s320/01untitled.jpg)
ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และพากันแสวงหา ด้วยวิธีการต่างๆ ตามแต่ระดับของสติและปัญญาที่จะอำนวยให้ได้ มีบางคนที่ไม่ได้พบกับความสุขสมหวัง เพราะเดินผิดทาง มีความปรารถนา แต่มีความประพฤติที่ไม่ตรงกัน คือ ตั้งความปรารถนาไว้ทางหนึ่ง แต่กลับประพฤติไปเสียอีกทางหนึ่ง เช่น อยากร่ำรวย แทนที่จะขยันหมั่นเพียรทำการงาน แต่กลับตั้งหน้าตั้งตาเล่นการพนัน หรืออยากแสวงหาความบันเทิง แทนที่จะหาโดยวิธีที่ไม่มีโทษ แต่กลับไปเสพสุราเมรัย โดยหลงไปว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสุข กว่าจะรู้ตัวก็เกิดโรคร้ายแรงเสียแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตก็มาดับสลายลง กับสิ่งที่ไร้สาระ อย่างน่าเวทนายิ่งนักการที่คนเราจะรู้ว่าอะไรจะเป็นต้นเหตุของความทุกข์ และอะไรจะเป็นต้นเหตุของความสุขนั้น ก็คือ "ปัญญา" พระพุทธองค์ ได้ตรัสว่า มีปัญญาพาให้บรรลุความสุขในบรรดาคำสอนอันมากมาย ที่จะเป็นบันไดไปสู่ความสุขนั้น พระพุทธ เจ้าทรงแสดงไว้มีมาก หากจะพึงนำมาใช้ให้เหมาะกับกาลสมัย ธรรมที่เป็นมูลเหตุเกิดของความดี ที่มีชื่อเรียกว่า กุศลมูล แปลว่า รากเหง้าของความดี ก็จัดได้ว่าเป็นธรรมชั้นวิเศษอีกประการหนึ่งธรรมอันเป็นส่วนวิเศษนี้มี 3 อย่าง ได้แก่ อโลภะ ความไม่โลภ อโทสะ ความไม่ประทุษร้าย และ อโมหะ ความไม่หลงงมงายหากเราใช้ปัญญา ซึ่งเป็นเสมือนดวงตา หรือแสงสว่างที่จะใช้ส่องนำทาง ให้ชีวิตเกิดความปลอดภัย และบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือความดับทุกข์ตามลำดับขั้น ประพฤติปฏิบัติตามกุศลมูล 3 ประการ คือ ความไม่โลภ ความไม่ประทุษร้าย และความไม่หลงงมงาย จะสามารถบรรลุถึงความสุขที่ปรารถนาของทุกชีวิตได้เนื่องจากพระธรรมมีอานุภาพอันประเสริฐเช่นนี้ แม้จะล่วงกาลผ่านเวลามาแล้วถึง 2,500 กว่าปี ก็ไม่ได้คร่ำคร่าล้าสมัยไปเหมือนกับสิ่งอื่น แต่ยังทรงคุณภาพยอดเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา ปฏิบัติเวลาไหนก็ย่อมได้รับผลดีเวลานั้น ปฏิบัติน้อยก็ได้รับผลน้อย ปฏิบัติมากก็ได้รับผลมาก ปฏิบัติเป็นประจำก็ได้รับผลสม่ำเสมอ พระธรรมจึงได้นามว่า อกาลิโก คือให้ผลได้ตลอดกาล ซึ่งไม่เหมือนผลไม้ที่ผลิตผลเพียงเฉพาะฤดูกาลเท่านั้นหากใครได้นำมาปฏิบัติแล้วย่อมสามารถทำผู้นั้นให้ประเสริฐไปด้วย เช่นเดียวกับเพชรที่ล้ำค่า ซึ่งตามธรรมดาก็มีค่าสูงอยู่ในตัวแล้ว ถ้าใครโชคดีมีไว้ประดับย่อมบันดาลให้ผู้นั้นพลอยมีค่าตัวสูงขึ้นอีกมากทีเดียวธรรมทั้ง 3 อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นรากเหง้าของความดี เป็นทางแห่งความสุข ก็เพราะเป็นต้นเหตุให้เกิดความดีทั้งปวง เหมือนกับรากของต้นไม้ เป็นมูลเหตุให้เกิดลำต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก และผลฉะนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น