วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สั่งสมบุญ


หากบุคคลจะพึงกระทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญ นำความสุขมาให้การสั่งสมบุญเพื่อให้ได้รับอานิสงส์ หรือผลแห่งบุญที่ได้ทำนั้น ผู้ทำต้องรู้หลักแห่งการทำบุญ 3 ประการประการที่ 1 บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน มี 2 อย่าง คือ การให้ปัจจัย 4 หรือวัตถุทานต่างๆ ชื่อว่า อามิสทาน และการให้ธรรม ได้แก่ การแนะนำสั่งสอน ตักเตือนให้ละความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี แนะนำให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ชื่อว่า ธรรมทาน บรรดาทานทั้ง 2 นี้ อามิสทาน จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ
การให้โดยจำเพาะ คือ เจาะจงเฉพาะบุคคลที่รู้จักคุ้นเคยกัน เรียกว่า ปาฏิบุคลิกทาน ส่วนการให้แก่สงฆ์ คือ การถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หรือถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เป็นตัวแทนของสงฆ์ ไม่เจาะจง เรียกว่า สังฆทาน อีกประการหนึ่ง การให้ทานจะมีผลานิสงส์มากนั้น บุคคลที่ถวายจะต้องทำจิตใจให้เลื่อมใสศรัทธา มีใจเบิกบานยินดีที่จะให้ทานในเวลาทั้ง 3 คือ ก่อนแต่จะให้ ผู้ให้ก็มีใจยินดี ขณะกำลังให้ ก็ทำใจเลื่อมใส หลังจากให้ไปแล้วก็มีใจเบิกบานยินดี ประการที่ 2 บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ชื่อว่า ศีล เช่น ศีล 5 เป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะต้องประพฤติ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบร่มเย็น หากมนุษย์ทั้งหลายต่างพากันล่วงละเมิดศีล 5 ข้อนี้ สังคมก็จะมีแต่ความเดือดร้อนต่างๆ ศีลจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสงบร่มเย็นแก่สังคมและประเทศชาติ ศีลที่สมาทานประพฤติปฏิบัติสั่งสมอบรมดีแล้ว ก็จะมีผลมากมีอานิสงส์มากทำให้เกิดสมาธิ เมื่อสมาธิที่สั่งสมอบรมดีแล้วก็จะทำให้เกิดปัญญาคือความรอบรู้ในกองสังขารแล้วละกิเลสได้ตามภูมิชั้นแห่งปัญญาของตนๆประการที่ 3 บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คือ การเจริญสติทำใจให้สงบเป็นสมาธิ เพื่อทำให้เกิดปัญญา คือ ความรอบรู้ในกองสังขาร การเจริญภาวนานั้นท่านแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา การเจริญสมถะ เป็นอุบายทำใจให้สงบเป็นสมาธิ แล้วสามารถบรรลุถึงฌานสมาบัติ แต่ยังไม่สามารถละกิเลสได้เด็ดขาด ส่วนการเจริญวิปัสสนา อันเป็นอุบายทำให้เกิดปัญญา

เมื่อบุคคลได้เจริญภาวนาจนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่า เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง เป็นทุกข์ คือทนได้ยาก และเป็นอนัตตา หาใช่ตัวใช่ตนของเราไม่ เมื่อได้เห็นประจักษ์ตามความเป็นจริงในสัตว์และสังขารทั้งปวงว่า จะต้องมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดี แล้วละกิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ลดน้อยเบาบางลง จะกระทั่งถึงที่สุดสามารถละกิเลสได้เด็ดขาดคือบรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นบรมสุขซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดแห่งการทำบุญในพระพุทธศาสนา
เมื่อบุคคลปรารถนาความสุขในชีวิต ควรสั่งสมบุญตามหลักที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นบ่อยๆ ควรกระทำความพอใจในบุญนั้น เพราะบุญเป็นชื่อของความสุข การสั่งสมบุญจึงเป็นเหตุนำความสุขมาให้ตลอดเวลา


ขอขอบคุณ : คอลัมน์ธรรมะวันหยุด พระราชสุธี (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น