![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEg9WRYaZRtj-sZDFxc8A_2jbnbGG0aChj2KMiwf51AwfIY8i_XNc6vExQ5Kkm8CYgTbwwy3s7pBmKHKWTjNNnbq6gwTScBNFnYj5U6IADQ_CjxKwGA1WXhWJ2PDPDDF2mHz1xyiIPUn-o-a/s320/believe_123.jpg)
คัดลอก : หนังสือประวัติพระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโยนักบุญแห่งลานนาไทย
คนที่มีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว อาจจะทำการงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แต่ไม่สามารถที่จะเป็นที่รัก เป็นที่นับถือของคนรอบข้างได้ เพราะปราศจากคุณธรรมที่สมควรจะมีไว้ในตนเอง ดังคำที่ว่า "คุณธรรมนำความรู้" นั่นเอง ธรรมะหมวดหนึ่ง ที่บุคคลควรประพฤติตั้งไว้ในใจ เรียกว่า อธิษฐานธรรม คือ ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ นั่นก็คือประการที่ 1 ปัญญา แปลว่า ความรู้ชัด รู้ทั่ว คือ หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง เช่น การศึกษาเล่าเรียน จะเรียนรู้อะไรสักอย่างหนึ่งก็จะต้องศึกษาในเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจ แจ่มแจ้ง ชัดเจน จึงจะเรียกได้ว่า สำเร็จประโยชน์ในการเรียน ไม่มีความบกพร่อง จนในที่สุดก็สามารถที่จะรู้เหตุและผล ดี-ชั่ว คุณ-โทษ ประโยชน์-มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น ได้ตามความเป็นจริง และปัญญานี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ สุตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด และภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการอบรมประการที่ 2 สัจจะ แปลว่า ความจริง คือ จริงใจ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้ทำจริง เช่น ตั้งใจไว้ว่าจะศึกษาเล่าเรียน จะปฏิบัติกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องทำอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาเบียดเบียน ขัดขวาง ก็จะต้องใช้ความพยายามฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นให้ได้ จนสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการ ประการที่ 3 จาคะ แปลว่า ความสละ ได้แก่ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ เริ่มต้นตั้งแต่การเสียสละ ให้ปันสิ่งของแก่คนอื่น จนถึงการสละกิเลสที่มีอยู่ในตน เช่น เมื่อตั้งใจจะทำความดี แต่มีตัวกิเลสมากั้นไว้ ไม่ให้ทำความดีนั้น จะต้องเข้าใจว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิตของตน เมื่อพิจารณาเห็นโทษแล้ว ก็ให้สละกิเลสเหล่านี้ออกไปประการที่ 4 อุปสมะ แปลว่า ความสงบ คือ สงบกาย สงบใจ จากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ คือ กิเลส ระงับความขัดข้อง วุ่นวายอันเกิดจากการถูกกิเลส เข้าครอบงำเสียได้ ทำให้จิตใจมีแต่ความสงบ ปราศจากกิเลส ความเศร้าหมองใจคนทุกคนที่เกิดมา จะต้องมีการคบหากันมากขึ้น จำต้องมีสัจจะ ความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน จึงจะได้รับการยกย่องนับถือ ต้องมีจาคะ เสียสละให้ปัน การอยู่ร่วมในสังคมหมู่มาก ย่อมที่จะกระทบกระทั่งกันบ้าง จำต้องมีความสงบใจ ไม่ปล่อยให้จิตใจตกไปในอำนาจกิเลส ชีวิตจึงจะประสบแต่ความสุขตลอดไปดังนั้น ถ้าบุคคลอบรมธรรมทั้ง 4 ประการนี้ ให้เกิดมีขึ้นในจิตใจ หรือตั้งธรรม 4 ประการนี้ไว้ในใจแล้ว ก็สามารถที่จะทำให้ประสบกับสมบัติอันจะพึงมี พึงได้ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตภายภาคหน้า
คัดลอก : พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙)